บทความนี้จะมาต่อกันด้วยเรื่องของการเลือกใช้วานิชแบบต่างๆ ให้เหมาะกับงานค่ะ
Varnish เป็นเคลือบใสบางๆ ทาอยู่ชั้นบนสุดของภาพสีน้ำมัน โดยมีส่วนผสมหลักคือเรซิ่น ซึ่งเรซิ่นที่อยู่ในวานิชมีทั้งจากธรรมชาติ (Damar, Mastic, Copal resin) และเรซิ่นสังเคราะห์ ในท้องตลาดปัจจุบันมักใช้แบบสังเคราะห์มากกว่า เคลือบวานิช มี 2 ประเภท
1. เคลือบแบบถาวร (Final Varnish)
2. เคลือบชั่วคราว (Retouching Varnish)
เนื้อหาอย่างละเอียดของวานิชทั้งสองแบบ อ่านได้จากตอนที่แล้วค่ะ https://paintyoustudio.wixsite.com/home/post/varnishing-1
ผลิตภัณฑ์เคลือบวานิชจะมีขายทั้งแบบทา และแบบสเปรย์ใช้พ่น
พื้นผิวเคลือบจะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ
1. Gloss เคลือบมัน
2. Matt เคลือบด้าน
3. Satin เคลือบกึ่งมันกึ่งด้าน (ซาติน)
เคลือบถาวร มีขายทั้งแบบ Gloss, Matt, Satin
เคลือบชั่วคราว ส่วนใหญ่ที่ขายเป็นแบบ Gloss ค่ะ
ซึ่งการจะเลือกใช้แบบไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพวาด และความชอบของคนวาด ดังนี้ค่ะ
1. Gloss Varnish เคลือบมัน
เป็นวานิชที่คนนิยมใช้มากที่สุด ทาแล้วได้พื้นผิวมัน ทำให้ภาพสีสดขึ้น มีมิติลึกขึ้น และช่วยเพิ่ม contrastให้ภาพเขียน / Gloss Varnish เหมาะกับภาพที่มีโทนสีเข้ม (Low key Painting), ภาพที่มีพื้นผิวเรียบเนียน, ภาพวาดสไตล์ Realistic หรือ Academic แต่ไม่ค่อยเหมาะนักกับภาพที่มีสีอ่อน (High key painting) และมี Texture เยอะๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดแนวไหน สุดท้ายแล้วอยู่ที่ความชอบของคนวาดล้วนๆ ถ้าใครชอบผิวงานมันเงา ก็จัดไปได้เลย
Gloss Varnish ที่มันเงามากจะเป็นตัว Damar varnish ซึ่งเป็นเรซิ่นจากธรรมชาติ แต่ก็จะเหลืองง่ายกว่าแบบสังเคราะห์ และถ้าใครทา Gloss Varnish แล้วรู้สึกว่ายังมันเงาไม่พอ ก็สามารถทาทับเพิ่มอีกชั้นได้ (ต้องรอให้เคลือบชั้นแรกแห้งก่อน ถึงทาทับได้)
หรือถ้าอยากลดความมันเงาของ Gloss Varnish ให้นำวานิชไปผสมกับ Turpentine/OMS ก็จะได้เคลือบที่บางลง มันเงาน้อยลง
อีกวิธีในการลดความมันเงาของ Gloss Varnish คือ เมื่อทาวานิชแล้ว ตอนที่เคลือบยังไม่แห้งให้ใช้แปรงสะอาดลากผ่าน โดยลงแปรงไปในทิศทางเดียวกันให้ทั่วทั้งภาพ ทำซ้ำซัก 2-3 รอบ ความมันเงาของ Gloss Varnish จะลดลง
ภาพที่ลง Gloss Varnish จะมันเงามีแสงสะท้อน เวลาติดตั้งต้องดูระยะห่างของภาพกับแสงไฟ และมุมแสงตกกระทบ ถ้าแสงไฟใกล้กับภาพเกินไป แสงอาจสะท้อนจนมองภาพไม่ชัดได้ โดยภาพที่ลง Gloss Varnish แล้วจะถ่ายรูปตรงๆ ลำบาก ดังนั้นควรถ่ายรูปผลงานก่อนการวานิช
---
2. Matt Varnish เคลือบด้าน
เป็นวานิชที่ให้พื้นผิวด้าน ตัวนี้คนใช้น้อยกว่าแบบแรก เมื่อทาแล้วจะช่วยตัดแสงสะท้อน ลด Contrast ภาพจะดูสีอ่อนกว่าการใช้ Gloss varnish และสีภาพดูแบนลงเล็กน้อย แต่ก็เป็น Effect ที่เหมาะกับภาพบางชนิด เช่น งานสมัยใหม่ งาน Abstract, งานสไตล์ impressionist ที่มีโทนสีอ่อน มี Texture เยอะๆ หรือสำหรับศิลปินที่ชอบผิวงานด้าน ซึ่งผิวด้านก็ดีตรงที่ภาพไม่มีแสงสะท้อน ถ่ายรูปง่ายกว่าค่ะ
---
3. Satin Varnish เคลือบซาติน
ซาตินวานิช เป็นเคลือบกึ่งมันกึ่งด้าน อาจจะหาซื้อยากหน่อยเมื่อเทียบกับตัวอื่น เราสามารถใช้วิธีผสม Gloss+Matt Varnish เข้าด้วยกันในอัตราส่วน 1:1 จะได้ผลคล้ายกับทาเคลือบซาติน หรือจะใช้ Cold wax medium ผสมกับ Gloss varnish เพื่อลดความมันเงาลง ให้ได้เอฟเฟคออกมาคล้ายเคลือบซาตินก็ได้เช่นกัน
---
(( วิธีการเคลือบวานิช ))
วานิชแบบทา
1. ภาพที่จะเคลือบวานิชได้ ผิวงานต้องแห้ง ไม่มีฝุ่นเกาะ ผิวงานต้องไม่ชื้น และต้องเคลือบในที่มีการระบายอากาศดีเท่านั้น เพราะวานิชเป็นมีเดียมที่มีกลิ่นแรงเป็นพิษต่อร่างกาย และควรเลี่ยงการเคลือบงานในวันที่มีความชื้นสูง เช่น ตอนฝนตก
2. วางภาพวาดในแนวราบ นอนไปกับพื้น
3. เทวานิชใส่ภาชนะที่สะอาด (ถ้าเป็น Matt varnish, Satin Varnish อย่าลืมเขย่าขวดหรือคนให้ทั่ว) 4. จุ่มแปรงหน้ากว้างลงในภาชนะใส่วานิช แล้วเริ่มทาลงบนภาพ โดยทาไปในทิศทางเดียวกันให้ทั่วทั้งภาพ อย่าใช้เวลานานเกินไปควรทำให้เสร็จก่อนเคลือบเริ่มเซ็ตตัว
5. ใช้แปรงอันเดิมโดยไม่ต้องจุ่มวานิช ลากไปในทิศทางตั้งฉากกับที่ทาไว้ในข้อ 4 เพื่อเกลี่ยให้เคลือบมีความสม่ำเสมอกันยิ่งขึ้น ทำให้ทั่วทั้งภาพ 6. ทิ้งไว้ให้แห้ง วานิชจะแห้งเร็วหรือช้า อยู่ที่ความหนาของเคลือบและสภาพอากาศ ส่วนมากวานิชจะแห้งใน 24 ช.ม. ถ้าต้องการเคลือบหลายชั้น ต้องรอให้ชั้นล่างแห้งก่อนถึงลงเคลือบชั้นต่อไปได้
วิธีการเคลือบวานิชที่ถูกต้อง ดูจากคลิปในลิ้งค์ด้านล่างได้เลยค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=ChFoAUbgFJc
ภาพที่เคลือบวานิชเรียบร้อยแล้ว ถ้าต้องทำการจัดส่ง ควรห่อด้วยกระดาษ Glassine หรือกระดาษไข ก่อนที่จะห่อด้วยพลาสติกกันกระแทก ไม่ควรให้พลาสติกกันกระแทกสัมผัสผิวงานโดยตรง เพราะความเหนียวของวานิชที่เคลือบเสร็จใหม่ๆ อาจจะติดกับพลาสติกได้ หรือใครอยาก play safe ก็รอให้เคลือบแห้งหลายวันหน่อย ความเหนียวลดลง แล้วค่อยทำการแพ๊คก็ได้ ---
วานิชแบบสเปรย์ 1. ควรพ่นนอกอาคารที่มีการระบายอากาศดี ผิวงานต้องแห้งและไม่มีฝุ่นเกาะ
2. เขย่ากระป๋องสเปรย์ก่อนใช้ เวลาพ่นควรให้ห่างจากภาพประมาณ 30 ซม. ค่อยๆ พ่นให้สม่ำเสมอกัน
3. ควรพ่นซัก 2 ชั้น โดยรอให้แต่ละชั้นแห้งก่อน (ประมาณ 10-20 นาที) ค่อยพ่นชั้นถัดไป
การพ่นวานิชให้สม่ำเสมอนั้นยากกว่าทาด้วยแปรง แต่สเปรย์พ่นแบบ Retouching Varnish ก็เหมาะกับภาพที่ยังไม่แน่ใจว่าแห้งรึยัง ไม่อยากใช้แปรงสัมผัสภาพ / สเปรย์ยังเหมาะกับภาพที่มี Texture เยอะๆ ที่ใช้แปรงทาไม่ถึงอีกด้วย หรือบางคนทาวานิชด้วยแปรงแล้ว แต่อยากลงเพิ่ม เมื่อเคลือบชั้นแรกแห้งแล้วก็พ่นสเปรย์ทับได้เช่นกัน ---
คำถามอื่นๆ เกี่ยวกับการเคลือบวานิช
ทำไมลงเคลือบแล้ว ภาพบางส่วนเงามาก บางส่วนเงาน้อย? ตอบ : การเคลือบวานิชจะช่วยให้ผิวงานสม่ำเสมอกันมากยิ่งขึ้น แต่ก็อาจจะไม่ได้เท่ากัน 100% ขนาดนั้น ขึ้นอยู่กับภาพวาดของเราด้วย ถ้าภาพวาดเรามีส่วนที่หนาและบางต่างกันมากๆ โดยธรรมชาติวานิชจะไปเกาะส่วนที่หนาเขียนทับหลายชั้น มากกว่าส่วนที่เขียนบางอยู่แล้ว หรืออีกกรณีนึงคือ เคลือบไม่ถูกวิธี ทำให้วานิชหนาบางไม่เท่ากัน แต่ถ้าทำตามวิธีที่กล่าวไว้ด้านบนก็ไม่น่ามีปัญหาตรงนี้ค่ะ
แปรงที่ใช้ทาวานิชควรเป็นแปรงชนิดไหน? ตอบ : ควรเป็นแปรงหน้ากว้างอย่างน้อย 1.5-2 นิ้วขึ้นไป ใช้ได้ทั้งแปรงขน Bristle และสังเคราะห์ (ตัวแอดมินใช้แปรง Bristle) ถ้าอยากล้างแปรงที่ทาวานิช ให้ใช้ Turpentine ล้าง บางคนบอกว่าล้างแล้วแต่แปรงยังแข็งอยู่จะทำยังไง? ถ้าแปรงแข็ง...ครั้งต่อไปก่อนที่จะเคลือบ ให้แช่แปรงแข็งๆ นั่นแหละลงในวานิชซักพัก แปรงจะนิ่มลงเองเพราะ mineral spirit ในตัววานิช แล้วใช้แปรงทาเคลือบต่อได้เลย
ลงเคลือบแล้วไม่ชอบ ดูแย่ลงกว่าเดิม เอาเคลือบออกได้มั้ย? ตอบ : เคลือบสีน้ำมันล้างออกได้ด้วย Turpentine, Mineral spirit, OMS ส่วนที่ว่าทำไมเคลือบแล้วดูแย่ลง เอิ่ม ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะบางภาพเคลือบแล้วก็ดูแย่ลงจริง แต่ก็ขึ้นกับรสนิยมคนวาดด้วยว่าอยากให้งานตัวเองออกมาแบบไหน ถ้าคิดว่าดูแย่ลง ก็ล้างเคลือบออกได้นะ
การล้างเคลือบวานิช
วานิชสีน้ำมันเป็นสิ่งที่สามารถล้างออกได้ ตอนเราบูรณะภาพจะมีการล้างเคลือบ เผยให้เห็นภาพสีน้ำมันที่อยู่ข้างใต้ เคลือบวานิชที่ดี ต่อให้ผ่านไปเป็น 100 ปี พอล้างออกแล้วภาพก็ยังดูดีอยู่
บางกรณีเมื่อทาวานิชแล้วได้เอฟเฟคที่เราไม่พอใจ จะล้างวานิชออกแล้วค่อยทาใหม่ก็ได้
เคลือบวานิชล้างออกได้โดยใช้ Turpentine,OMS โดย Turpentine จะแรงกว่า ล้างวานิชได้ดีกว่า แต่ตอนล้างต้องระวังค่อยๆ ล้างให้สีหลุดออกมาน้อยที่สุดค่ะ
ตอนล้างให้ใช้ผ้าสะอาดชุบ OMS แล้วค่อยๆ ถูวนเบาๆ ให้เคลือบหลุดออกมา หรือจะใช้คอนต้อนบัดจุ่ม OMS แล้วค่อยๆ ถูเคลือบออกก็ได้เหมือนกันค่ะ ทุกครั้งที่มีการล้างเคลือบ จะมีสีน้ำมันหลุดติดออกมาด้วยเสมอไม่มากก็น้อย จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการล้างค่ะ
---
#ฺvarnish #varnishing #finalvarnish #retouchingvarnish #sinkingin #oilpaintingvarnish #glossvarnish #mattvarnish #satinvarnish #howtovarnishoilpainting #howtoremovevarnish #varnishremoval #oilpainting #portraitpainting #customportraitpainting #oilpaintingcommission #paintyoustudio #เคลือบวานิช #เคลือบภาพสีน้ำมัน #วานิช #วานิชสีน้ำมัน #รีทัชชิ่งวานิช #เคลือบถาวร #เคลือบรีทัชชิ่ง #เคลือบมัน #เคลือบด้าน #เคลือบซาติน #การเคลือบภาพสีน้ำมัน #การล้างเคลือบสีน้ำมัน #สีน้ำมัน #สีน้ำมันสำหรับผู้เริ่มต้น #ภาพสีน้ำมัน #ภาพเหมือนสีน้ำมัน #รับวาดภาพเหมือนสีน้ำมัน
Comments