top of page
Search
Writer's picturePaint You Studio

การเลือกซื้อสีน้ำมัน (1) เกรดของสี

Updated: Jun 29, 2022

บทความนี้จะมาว่าด้วยเรื่องวิธีการเลือกซื้อสีน้ำมันค่ะ ว่าเวลาซื้อสีน้ำมันเราควรดูตรงไหนบ้าง?

ด้วยความที่หัวข้อนี้มีรายละเอียดเยอะมาก จึงขอแบ่งเขียนเป็น 3 ตอนนะคะ โดยตอนแรกที่เราควรพิจารณาเวลาเลือกซื้อสีน้ำมัน คือ (1) เกรดของสี ค่ะ


สีน้ำมันมี 2 เกรด คือ

1. เกรดนักเรียน หรือ เกรดสตูดิโอ (Student grade)

2. เกรดอาร์ทติส (Artist grade)



ภาพประกอบ : สีน้ำมันของวินเซอร์ มีทั้งเกรดนักเรียน (Winton) และเกรดอาร์ทติส(Artist’s oil color)




1.สีน้ำมันเกรดนักเรียน หรือ เกรดสตูดิโอ (Student grade)

เหมาะสำหรับ : คนที่เพิ่งเริ่มวาด หรือ นักเรียนนักศึกษา ยี่ห้อสีน้ำมันเกรดนักเรียน ที่เห็นได้ทั่วไป ได้แก่ Winton, Vangoh, Lefranc Blue, Lourve, Silpakorn, Daler-Rowney Georgian, Pebeo studio, Maries, Phoenix, Reeves ฯลฯ

จุดสังเกตคือ สีเกรดนักเรียนจะมีคำว่า Studio หรือ Fine อยู่ในชื่อยี่ห้อ (ถ้าเป็นเกรดอาร์ทติสจะใช้คำว่า “Extra fine”) สีทุกสีมักจะมีราคาเท่ากันหมดไม่มีการแบ่งซีรียส์ ราคาไม่แพง หาซื้อง่ายกว่าแต่คุณภาพสีจะไม่สดเท่าเกรดอาร์ทติส เพราะมีการผสมแป้งหรือ filler ลงไปในเนื้อสี สีน้ำมันเกรดนักเรียนคุณภาพสู้สีเกรดอาร์ทติสไม่ได้เลยใช่มั้ย? ก็ต้องตอบว่าใช่ สู้ไม่ได้ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสดของสี ความง่ายในการผสม ความคงทนถาวร ความทึบความโปร่งเทียบไม่ได้กับสีเกรดอาร์ทติส ดังนั้นเวลาคนวาดมีทักษะในระดับหนึ่งแล้ว จะเปลี่ยนไปใช้สีเกรดอาร์ทติสเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพกว่าเดิม งั้นสีน้ำมันเกรดนักเรียน ก็ไม่มีประโยชน์เลยใช่มั้ย? ไม่ใช่ เพราะสีเกรดนักเรียนก็มีที่สำหรับใช้งานอยู่ โดยมืออาชีพหลายคนยังใช้สีเกรดนักเรียนในจุดประสงค์ต่อไปนี้


A) ใช้สำหรับรองพื้นงานขนาดใหญ่ หรือใช้สร้าง Texture ในขั้นตอน Underpainting B) สีเกรดนักเรียนมีการผสมแป้งลงไปในเนื้อสีเยอะ เมื่อแห้งแล้วจึงออกเทา สีไม่สด จึงมีการนำมาใช้ลง Background บางส่วน เพื่อช่วยในการผลักระยะ C) ใช้สำหรับงานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เทคนิค impasto (การโปะสีหนาๆนูนๆ) ด้วยเกรียง --- มีศิลปินอาชีพหลายคนทีเดียว ที่ใช้สีเกรดนักเรียนในการทำงาน impasto ด้วยเกรียงปาดสีแบบหนักๆ โดยเฉพาะยี่ห้อ Winton ที่เนื้อสีแห้งแข็งเหมาะกับเทคนิคนี้พอดี การใช้สีเกรดอาร์ทติสกับเทคนิค impasto เยอะๆ นั้น ถ้าเป็นงานขนาดเล็กหรือกลางก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้างานชิ้นใหญ่จะเป็นการเปลืองสีมาก บางทีต้องใช้มีเดียมที่ช่วยเพิ่มเนื้อสีมาผสมอีกที หรือบีบสีทิ้งไว้บนกระดาษข้ามคืน เพื่อดูดซับน้ำมันที่อยู่ในเนื้อสีออกมา จนเนื้อสีมีความแข็งพอที่จะใช้เกรียงโปะสีได้ D) สำหรับสีที่มีความเข้มสูงมากๆ อย่าง Pthalo green (PG7) หรือ Pthalo blue (PB15) บางครั้งอาจใช้สีเกรดนักเรียนแทนได้ สีจะไม่เข้มเกินไปทำให้คุมการผสมสีได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ตามในเวลาที่ต้องการค่าสีที่สดและเข้มจัดๆ ก็ควรใช้สีเกรดอาร์ทติสอยู่ดี


E) ใช้ในงาน sketch

 

2. สีน้ำมันเกรดอาร์ทติส (Artist grade) เหมาะสำหรับ : ศิลปิน จิตรกร , ผู้ที่มีพื้นฐานการวาดภาพในแขนงอื่นๆ มาแล้ว , มืออาชีพและสมัครเล่นที่อยากให้ผลงานที่วาดสีไม่ซีดและคงทนอยู่ได้นาน สีน้ำมันเกรดอาร์ทติส มีคุณภาพที่เหนือกว่าเกรดนักเรียน โดยเฉพาะเรื่องเนื้อสีที่เขียนง่ายกว่า เข้มข้น ผสมง่าย ใช้เทคนิคได้หลากหลาย เทคนิคบางอย่างเช่น Glazing (การเคลือบสี) ควรใช้สีน้ำมันเกรดอาร์ทติสในการเคลือบ เพราะสีจะมีความเข้มข้นและโปร่งใสทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี (ถ้าใช้สีเกรดนักเรียนในการ Glazing สีจะหม่นไม่สวย เพราะสีเกรดนักเรียนมักไม่ใส ใส่พิกเม้นต์น้อย มี filler และแป้งเยอะ) ยี่ห้อไหนเป็นสีน้ำมันเกรดอาร์ทติสสังเกตได้จากราคา ราคาจะมีการแบ่งเป็น series โดยสีซีรียส์ 1 มีราคาต่ำสุด ยิ่งสีซีรียส์สูงยิ่งราคาแพง บางยี่ห้อแพงไปถึงหลอดละ 2000-3000 บาทก็มี สีเกรดอาร์ทติสแม้จะมีหลายยี่ห้อ แต่ความจริงแล้วคุณภาพของแต่ละแบรนด์นั้นไม่เท่ากัน โดยเราแบ่งคุณภาพของสีเกรดอาร์ทติสได้กว้างๆ 3 ระดับ คือ 2.1 สีเกรดอาร์ทติสระดับเริ่มต้น มีราคาไม่แพงนัก เหมาะสำหรับนักศึกษา, ศิลปินระดับเริ่มต้น, ผู้ต้องการสีที่คุณภาพดีราคาไม่แพง ยี่ห้อสีน้ำมันที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น วิจิตรรงค์, Shiva, Grumbacher, LUKAS1862 , Permalba เป็นต้น 2.2 สีเกรดอาร์ทติสระดับกลาง พบเห็นในท้องตลาดมากที่สุด เช่นยี่ห้อ Winsor & Newton Artist, Rembrandt, Lefranc, Holbein, Sennelier, Charvin, Schmincke Norma, Gamblin, M.graham, Daniel Smith, Davinci, Shinhan, Utretcht, Art Spectrum 2.3 สีเกรดพรีเมียม เป็นสีเกรดอาร์ทติสที่คุณภาพสูงเป็นพิเศษ ด้วยพิกเมนต์ที่เข้มข้น ใช้น้ำมันคุณภาพดี ไม่ผสม filler จึงมีราคาแพง สีน้ำมันเกรดพรีเมี่ยมในท้องตลาด เช่น Old Holland, Vasari, Williamsburg, Rublev, Michael Harding, Schmincke Mussini, Maimeri Puro, Holbein Vernet, Blockx, Langridge ที่จริงสีเกรดอาร์ทติสทั่วไปก็เพียงพอที่จะใช้งานในระดับมืออาชีพแล้ว อย่างไรก็ตามศิลปินบางคนก็ขอเลือกใช้สีเกรดพรีเมี่ยมเพื่อคุณภาพงานที่ดีที่สุด สุดท้ายแล้วจะเลือกใช้สียี่ห้ออะไรนั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความชอบ และสไตล์การเขียนรูปของแต่ละคน โดยจากที่แอดมินเก็บข้อมูลมา---พบว่าปัจจุบันศิลปินระดับโลกในสายวาดภาพคน ส่วนใหญ่จะใช้สีเกรดอาร์ทติสระดับกลางๆ มากที่สุดค่ะ รีวิวสีเกรดอาร์ทติสที่มีขายในเมืองไทย ตามลิ้งค์ค่ะ https://paintyoustudio.wixsite.com/home/post/artist-grade-paints

1,753 views0 comments

Commentaires


bottom of page