top of page
Search
  • Writer's picturePaint You Studio

มีเดียมสีน้ำมันมีอะไรบ้าง?


บทความนี้จะเป็นเรื่องของมีเดียม หรือสื่อผสมในการเขียนภาพสีน้ำมันค่ะ

ก่อนอื่นต้องบอกว่า สีน้ำมันสามารถเขียนด้วยเนื้อสีเพียวๆ โดยไม่ผสมมีเดียมเลยก็ได้ แต่บางคนอาจรู้สึกว่า ใช้เนื้อสีอย่างเดียวมันฝืดเกินไป เลยใช้มีเดียมผสม ให้ได้เนื้อสีที่เหมาะกับสไตล์การวาดของตัวเอง


.

การใช้มีเดียมสีน้ำมันมีหลักอยู่ว่า “ใช้ยิ่งน้อยยิ่งดี” เวลาใช้มีเดียมไม่ควรใส่เกิน 25% ของเนื้อสี เพราะถ้าใช้มากเกินไปอาจส่งผลเสียกับภาพวาด เช่น ชั้นสีไม่แข็งแรง, สีเปลี่ยน, ลงเคลือบไม่ติด เป็นต้น (มีเดียมก็เหมือนผงชูรส ใช้แล้วเขียนได้นัว เขียนได้อร่อย แต่ใส่เยอะไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพของ painting) เวลาผสมมีเดียมกับสีน้ำมัน จะใช้พู่กันจุ่มผสมโดยตรง หรือใช้เกรียงตีผสมสีกับมีเดียมไว้ก่อนวาดก็ได้ โดยการใช้เกรียงตีผสม จะได้เนื้อสีที่สม่ำเสมอกว่าและลดปัญหาการเกิดสีจมได้ระดับหนึ่ง


มีเดียมสีน้ำมัน แบ่งกว้างๆ ตามการใช้งานได้ดังนี้

1. มีเดียมแห้งช้า

2. มีเดียมแห้งเร็ว

3. มีเดียมสีหนา

4. ไม่ใช้มีเดียม ---------------------- .

1. มีเดียมแห้งช้า



ช่วยให้สีแห้งช้า เป็นมันเงา โปร่งแสงขึ้น เขียนได้ไหลลื่นขึ้น ลดรอยแปรง สื่อผสมที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ คือน้ำมัน Drying oil ประเภทต่างๆ ได้แก่ น้ำมันลินสีด, น้ำมันวอลนัท, น้ำมันเมล็ดป๊อปปี้, น้ำมันดอกคำฝอย ซึ่งน้ำมันที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ น้ำมันลินสีด (Linseed oil) เพราะเป็นน้ำมันที่ทำให้ภาพแข็งแรงที่สุดและไม่แตกง่าย

.

น้ำมันลินสีดเองก็มีหลายชนิด ที่ผ่านกระบวนการผลิตต่างกัน เช่น Cold-pressed Linseed oil, Refined Linseed oil, Stand oil, บ้างก็มีการนำน้ำมันลินสีดมาผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น เอาไปตากแดดนานนับเดือน เพื่อให้ได้น้ำมันที่สีใสขึ้นและแห้งเร็วขึ้น เป็นต้น

นอกจากมีเดียมในรูปแบบน้ำมันแล้ว ผู้ผลิตบางรายได้เอาน้ำมันมาผสมกับ Fumed silica เพื่อผลิตออกมาขายในรูปแบบเจล ให้ศิลปินพกพาได้สะดวก ไม่เหลว มีคุณสมบัติทุกประการไม่ต่างจากการใช้น้ำมันอีกด้วย

.

แอดมินเคยเขียนเกี่ยวกับ Drying oil ประเภทต่างๆ ไว้แล้วในบทความเก่า อ่านรายละเอียดได้ที่

สื่อผสมสื่อน้ำมัน : น้ำมันชนิดต่างๆ (Drying Oils)

.

การเลือกซื้อสีน้ำมัน (2) Binder


2. มีเดียมแห้งเร็ว



เป็นสื่อผสมที่ช่วยให้สีน้ำมันแห้งเร็วขึ้น โดยมีเดียมที่พบเห็นในท้องตลาด มีดังนี้

.

2.1 Solvent หรือ Lean medium

เป็นสารละลายที่มีลักษณะเหลวใสคล้ายน้ำเปล่า ช่วยให้สีแตกตัว ทำให้สีบางลง เมื่อผสมกับเนื้อสีจะให้ความรู้สึกเหมือนใช้สีน้ำ ที่สำคัญคือยังนำมาใช้ล้างพู่กันได้อีกด้วย มีเดียมดังกล่าว ได้แก่ น้ำมันสน ,Turpentine, Mineral spirit, น้ำยาล้างพู่กันแบบไร้กลิ่น (OMS), Oil of spike lavender, เป็นต้น

.

 ข้อควรระวัง

มีเดียมประเภทนี้มีความ Toxic ควรใช้ในที่ระบายอากาศดี และถ้าใช้มากเกินไป สีจะแตกง่ายค่ะ

.

แอดเคยรีวิวตัว OMS หรือ Odorless Mineral Spirit ไว้ในบทความเก่า ตามลิ้งค์ด้านล่างค่ะ

.

.

2.2 Alkyd (อัลขิด)

เป็นมีเดียมที่ทำจากเรซิ่น ที่ผ่านกระบวนการดัดแปลงจากน้ำมันชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติคือ ทำให้สีแห้งเร็ว ไม่เหลือง ทำให้ชั้นสีแข็งแรงขึ้น สีเป็นมันเงามากขึ้น เป็นมีเดียมที่เหมาะกับงานด่วนงานไว โดย Alkyd ที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Liquin ลิควิน ของบริษัท Winsor&Newton

.

ข้อเสียของมีเดียมชนิดนี้ คือ ส่วนใหญ่มีกลิ่นแรง และ Toxic ควรใช้ในที่ระบายอากาศดี ยกเว้นบางยี่ห้อที่ผลิตมาแบบ Non-Toxic เช่น Walnut Alkyd Medium ของ M.Graham

.

แอดมินเคยเขียนเกี่ยวกับ Alkyd ไว้แล้วในบทความเก่า อ่านรายละเอียดได้ที่

.

.

2.3 Drier หรือสารเร่งแห้งเร็ว

Drier หรือ Siccative เป็นสารละลายที่ช่วยเร่งให้สีแห้งเร็วขึ้น เวลาใช้ให้หยดผสมกับมีเดียมตัวอื่น เช่น หยดผสมกับน้ำมันลินสีดในภาชนะแค่เล็กน้อยเท่านั้น ก็จะทำให้น้ำมันลินสีดที่ปกติแห้งช้า กลายเป็นแห้งเร็วขึ้น ตัวอย่าง Drier ที่ใช้กันก็มี Cobalt drier, Manganese drier, Lead drier, Japan drier เป็นตัน โดยที่คนนิยมใช้มากที่สุด คือ Cobalt Drier

.

มีเดียมชนิดนี้ไม่ควรใช้เยอะไป เพราะจะมีผลเสียต่อโครงสร้างชั้นสีได้ อีกทั้งมีความ Toxic ควรใช้ในที่ระบายอากาศได้ดี เป็นสื่อผสมที่เหมาะกับคนมีประสบการณ์ระดับหนึ่ง หรือคนอยากเล่นแร่แปรธาตุ ผสมมีเดียมใช้เอง

.

ปัจจุบันจะเห็นมีเดียมสำเร็จรูป ที่ใช้น้ำมันผสมกับ Drier จนได้มีเดียมที่มีคุณสมบัติแห้งเร็ว ไม่แห้งช้าแบบน้ำมันทั่วไป ตัวอย่างเช่น น้ำมันลินสีดแบบแห้งเร็ว หรือน้ำมันป๊อปปี้แบบแห้งเร็ว Drying poppy oil ของ Winsor&Newton (เค้าใช้ Poppy seed oil มาผสมกับ Drier จนกลายเป็นมีเดียมแห้งเร็วนั่นเอง)

--- . 3. มีเดียมสีหนา


มักเอาไว้ใช้กับเทคนิค Impasto หรือการเขียนสีหนา สร้าง Texture ให้กับภาพสีน้ำมัน

การใช้มีเดียมจะช่วยให้สีหนาๆ แห้งไวขึ้น ไม่แตกง่าย ไม่ยุบตัว และที่สำคัญไม่เปลืองสีมากนัก (เราสามารถใช้สีเพียวๆ จากหลอดในการเขียน Impasto ได้เช่นกัน แต่สีจะแห้งช้า และถ้าเขียนหนามากๆ สีอาจยุบตัวหรือย่นได้)

.

มีเดียมที่ช่วยให้สีหนามีดังนี้

.

3.1 Impasto medium

เป็นมีเดียมที่ทำมาเพื่อเทคนิค Impasto โดยเฉพาะ สำหรับคนที่อยากเคลือบถาวรให้ภาพสีน้ำมัน แนะนำให้ใช้ Impasto medium ภาพจะได้มีโครงสร้างที่แข็งแรง แห้งพร้อมที่จะเคลือบวานิชได้

Impasto medium มีหลายสูตร หลายรูปแบบ แล้วแต่ผู้ผลิต เช่น สูตรที่มีเรซิ่นผสมจะให้พื้นผิวมันเงา, สูตรที่ใช้ Wax ผสมจะให้พื้นผิวที่ออกด้าน, มีทั้งแบบ Toxic และ Non-Toxic เลือกใช้ได้ตามใจชอบเลย

.

3.2 Dry medium

มีลักษณะเป็นผง ทำหน้าที่คล้ายพิกเมนต์ที่ไม่มีสี ช่วยเพิ่มเนื้อสีเดิมให้มากขึ้น Dry medium ที่นิยมใช้ได้แก่ ผงแคลไซต์ หรือ แคลเซี่ยมคาร์บอเนต, ผงชอล์ค, Barite, Talc, etc. แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ Calcite เช่น Marble dust หรือ Limestone dust ว่ากันว่าศิลปินระดับ Old master อย่าง Rembrandt, Velasquez ก็ใช้ Marble dust ในงานของตัวเองเช่นกัน . การใช้ Marble dust นั้นจะทำให้สีมีพื้นผิวด้าน สำหรับวิธีใช้ เราจะเอาผงผสมกับสีโดยตรงก็ได้ / หรือนำผงไปผสมกับ Linseed oil ก่อน ให้ได้เนื้อมีเดียมที่ต้องการ จากนั้นค่อยนำไปผสมกับสีน้ำมันต่อก็ได้เช่นกัน มีเดียมประเภทนี้ไม่ควรใช้เยอะเกินไป เพราะผงมีสีขาว ถ้าใส่เยอะสีจะลดความสดลง

---

4. ไม่ใช้มีเดียม

.

การใช้สีน้ำมันเพียวๆ จากหลอดโดยไม่ใช้มีเดียม ที่จริงแล้วเป็น Practice ที่ดีในการเขียนสีน้ำมัน แต่หลายคนจะรู้สึกว่าการใช้เนื้อสีอย่างเดียวมันฝืดเกินไป ไม่ลื่นพู่กัน เขียนลำบาก ต้องหามีเดียมมาผสมถึงจะนัว ทำให้มีการผลิตสื่อผสมชนิดต่างๆ ออกมามากมาย จนมึนงงเลือกซื้อกันไม่ถูก

.

สำหรับคนที่อยากกลับสู่สามัญ เขียนแบบไม่ใช้มีเดียม ก็แนะนำให้เลือกสีน้ำมันยี่ห้อที่เนื้อสีนิ่มลื่นพู่กันหน่อย จะได้เขียนง่ายขึ้น (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีน้ำมันเกรด artist) ถ้าเนื้อสีฝืดเกินไปอาจใช้เกรียงหรือผ้าในการช่วยเกลี่ยสี การเลือกพื้นผิวเป็นผ้าใบลินินก็จะทำให้เขียนได้ลื่นขึ้น

.

แต่ข้อเสียของการไม่ใช้มีเดียม คือ มีข้อจำกัดด้านเทคนิค เราจะไม่สามารถใช้เทคนิคการวาดบางอย่างได้ เช่น การใช้สารละลายทำให้สีบาง, การเคลือบสี(Glazing) จะทำได้ลำบาก หรือการเขียนทีแปรงใหญ่ๆ ยาวๆ ลื่นไหล จะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ใช้มีเดียม

.

สำหรับเรื่อง Best practice ในการเขียนสีน้ำมัน แอดเคยเขียนไว้ในบทความเก่าตามลิ้งค์ด้านล่างค่ะ https://paintyoustudio.wixsite.com/home/post/oil-painting-longevity --- #ฺoilpaintingmedium #dryingoil #linseedoil #walnutoil #saffloweroil #poppyseedoil #leanmedium #solvent #OMS #turpentine #mineralspirit odorlessmineralspirit #drier #siccatives #cobaltdrier #alkyd #liquin #walnutalkydmedium #impastomedium #calcite #marbledust #paintwithnomedium #oilpainting #portraitpainting #oilpaintingforbeginner  #customportraitpainting #oilpaintingcommission #paintyoustudio 

#สีน้ำมัน #สื่อผสมสีน้ำมัน #มีเดียมสีน้ำมัน #สีน้ำมันสำหรับผู้เริ่มต้น #ภาพสีน้ำมัน #ภาพเหมือนสีน้ำมัน #รับวาดภาพเหมือนสีน้ำมัน

43 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page