top of page
Search
Writer's picturePaint You Studio

Indirect painting

บทความที่แล้วเราพูดถึง Direct painting ไปแล้วนะคะ วันนี้เลยจะมาว่าด้วยเรื่องของ Indirect painting ซึ่งเป็นอีกวิธีการนึงในการเขียนภาพสีน้ำมัน


Indirect painting เป็นการเขียนสีน้ำมันแบบหลายเลเยอร์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เก่าแก่กว่าการเขียน Direct เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีการผลิตหลอดสี ต้องบดผสมสีน้ำมันกันเอง สีจึงมีลักษณะเหลว การวาดภาพหนึ่งๆ จึงใช้เวลานานหลายวัน ค่อยๆวาดให้สีหลายชั้นทับซ้อนกัน ทั้งสีทึบและโปร่ง ส่งผลให้ภาพมีความแน่นทั้งแสงเงา แน่นทั้งมิติของสี และมีความมลังเมลือง ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะของสีน้ำมัน ข้อดีมีเยอะอย่างที่กล่าวมา ข้อเสียคือ ใช้เวลานาน และซับซ้อนกว่าค่ะ

การเขียน Indirect painting ต้องใช้สื่อผสมหรือมีเดียมร่วมด้วย คนวาดควรเข้าใจธรรมชาติของมีเดียมแต่ละชนิด รวมถึงเข้าใจกฎ Fat over lean (สีที่อยู่ชั้นล่างต้องแห้งเร็วกว่าชั้นบนเสมอ) จึงจะได้ภาพที่แข็งแรงไม่เกิดปัญหาสีแตกในเวลาต่อมา เพราะสีน้ำมันยิ่งเขียนหลายชั้นยิ่งมีโอกาสแตกง่ายกว่าชั้นเดียว / การเขียน Indirect จำเป็นต้องใช้สีน้ำมันคุณภาพดี อย่างน้อยเกรด artist ขึ้นไป เพราะต้องใช้เทคนิค Glazing ร่วมด้วย ถ้าเอาสีเกรดนักเรียนที่มีแป้งเยอะมาใช้เวลา Glazing จะไม่ค่อยสวยค่ะ

ตัวอย่างการเขียน Indirect painting ด้วยเทคนิคโบราณโดย Osamu Obi ศิลปินชาวญี่ปุ่น ซ้าย : รองพื้นชั้นแรกแบบ grisaille / ขวา : ภาพเสร็จสมบูรณ์


Indirect Painting เริ่มต้นด้วยการลงสีชั้นรองพื้น (Underpainting) ซึ่งนิยมเพ้นท์แบบสีเดียว Monochrome ด้วยการใช้สีที่แห้งเร็ว เช่น Burnt umber, Raw umber, Mars black, etc. ผสมกับ Lead white ซึ่งรองพื้นสีเดียวนี้เรียกว่า Grisaille หรือ Dead Layer จุดประสงค์ของชั้นรองพื้น คือ ลงดรออิ้งและน้ำหนักไว้ให้ครบ เพื่อเป็นเบสให้กับชั้นสีถัดไป สีชั้นรองพื้นควรแห้งเร็ว มีผิวด้านหรือมีความขรุขระนิดๆ ให้สีชั้นถัดไปเกาะได้ สำหรับงานสมัยใหม่หน่อยจะมีการใช้รองพื้นที่เป็นสีต่างๆ บ้างก็รองพื้นด้วยสีใกล้เคียงกับภาพที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเพื่อความเร็วในการวาด

มีเดียมที่ใช้ในชั้นรองพื้น มักใช้มีเดียมที่ช่วยให้สีแห้งเร็ว เช่น Turpentine, OMS หรือ ใช้น้ำมันลินสีดผสมOMS เป็นต้น สำหรับคนที่ไม่ใช้ Lead white สามารถใช้สีขาวตัวอื่นแทนได้ เช่น - Underpainting white หรือ Foundation white เป็นสีขาวที่เอาไว้ใช้เขียนรองพื้นโดยเฉพาะ

- ใช้สีน้ำมัน Alkyd สีขาวแทน Lead white ก็ได้เช่นกัน

- ถ้าใครใช้ Titanium white ในชั้นรองพื้นควรผสมกับ Alkyd หรือผสมกับ Turpentine, OMS


สำหรับมีเดียมอื่นเช่น น้ำมันลินสีดหรือ Liquin ใช้ในชั้นรองพื้นได้มั้ย? คำตอบคือใช้ได้ แต่ชั้นถัดไปก็ต้องต้องใช้ปริมาณน้ำมันเท่าเดิมหรือมากขึ้น ตามกฎ Fat over Lean

---


เมื่อชั้นรองพื้นแห้งแล้ว ในชั้นสีถัดมา มักใช้การเคลือบสีหรือ “Glazing” (เกลซซิ่ง) ซึ่งเป็นการใช้สีโปร่งแสงผสมกับมีเดียม แล้วระบายทับลงไปเพื่อเพิ่มมิติความลึกให้กับภาพ / Glazing จะทำหลายชั้นก็ได้ เพราะเราใช้สีโปร่งแสง ทำให้เห็นเลเยอร์ชั้นล่างได้อยู่ สีแต่ละชั้นจะซ้อนทับกันออกมาดูมีมิติสวยงาม


มีเดียมที่ใช้ในการ Glazing มีเยอะมากในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน Drying oil หรือเจลแบบต่างๆ ซึ่งจะใช้อะไรก็ได้แล้วแต่ชอบ แค่ต้องยึดกฎ Fat over lean สีชั้นล่างต้องแห้งเร็วกว่าชั้นบนเสมอ ถ้าจะเอามีเดียมคลาสสิคก็ น้ำมันลินสีด นั่นล่ะค่ะ ที่จริงการ Glazing ใช้สีทึบแสงก็ได้นะคะ แต่ไม่ค่อยพูดถึงกัน เพราะมันอาจจะไปคล้ายกับเทคนิค Scumbling ที่จะพูดถึงต่อไป

เทคนิค “Scumbling” (สกัมบลิง) คือ การใช้สีทึบแสงระบายทับบางๆ โดยยังเห็นเลเยอร์ข้างล่างได้อยู่ ส่วนใหญ่เราจะใช้พู่กันแห้งในการ Scumbling แต่คนที่ผสมมีเดียมลงไปด้วยก็มีเหมือนกัน Scumbling เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้บ่อยเวลาเขียนสีน้ำมัน ช่วยในการเชื่อมต่อสีให้มีความกลมกลืนกันมากขึ้น จุดสำคัญคือระบายให้บาง ให้พอเห็นชั้นสีข้างล่างได้บางส่วน เพราะถ้าระบายสีทึบ100 % ทับชั้นสีเดิมไปเลย ก็ไม่เรียกว่า Scumbling แล้ว จะกลายเป็นการเขียนทับ (Overpainting) แทน ซึ่งทั้งเทคนิค Glazing, Scumbling จะทำได้เมื่อชั้นสีข้างล่างแห้งแล้วค่ะ คนอ่านมาเรื่อยๆ อาจจะเริ่มมึนแล้ว ทำไมศัพท์เทคนิคมันเยอะนัก? เขียน indirect มันต้องใช้เทคนิคซับซ้อนขนาดนั้นเลยเหรอ? จริงๆ ไม่ต้องไปสนใจศัพท์เทคนิคก็ได้ค่ะ เอาเป็นว่าการเขียนสีน้ำมันหลายๆ ชั้น คุณจะลงสียังไงก็ได้ จะทึบ จะโปร่ง จะบาง ยังไงก็ได้ แค่อย่างเดียวคือ ต้องตามกฎ Fat over lean (สีที่อยู่ชั้นล่างต้องแห้งเร็วกว่าชั้นบนเสมอ) แค่นั้นจบค่ะสำหรับ Indirect painting

---

ทั้ง Direct และ Indirect painting ต่างก็มีเสน่ห์และจุดเด่นที่ต่างกัน จะเลือกใช้วิธีไหนก็แล้วแต่ความชอบของคนวาดเลย ซึ่งศิลปินที่ใช้ทั้ง 2 วิธีปนกันก็มีนะคะ เช่น ขึ้นงานด้วยการเขียน Direct แต่มาทับด้วย Glazing, Scumbling ทีหลังให้งานมันแน่น

ตัวอย่างการเขียน Indirect แบบสมัยใหม่ คือ ไม่ใช้ Grisaille หรือ Dead layer แต่รองพื้นด้วยสีเลย แล้วใช้การซ้อนทับของชั้นสีด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้ง Glazing , Scumbling, Overpainting #indirectpainting #grisaille #deadlayer #underpainting #glazing #glazingmedium #scumbling #overpainting #layeredpainting #oilpainting #oilpaintingforbeginner #portraitpainting #paintyoustudio #รองพื้น #เคลือบสี #เทคนิคพู่กันแห้ง #ภาพสีน้ำมันหลายเลเยอร์ #สื่อผสมสีน้ำมัน #สีน้ำมัน #สีน้ำมันสำหรับผู้เริ่มต้น #ภาพสีน้ำมัน #ภาพเหมือนสีน้ำมัน #รับวาดภาพเหมือนสีน้ำมัน

322 views0 comments

Recent Posts

See All

Comments


bottom of page