วิธีการเขียนสีน้ำมัน หลักๆ จะมีอยู่ 2 วิธี คือ 1. Direct Painting
2. Indirect Painting
บทความนี้จะขอพูดถึงการเขียนแบบ “Direct Painting” ก่อนค่ะ
---
Direct Painting คือ การเขียนสีน้ำมันให้เสร็จในเลเยอร์เดียว โดยที่สียังเปียกอยู่ เทคนิคนี้บางทีจะเรียกว่า Alla prima หรือ Wet-on-wet Technique
การเขียนแบบ Direct painting จะเขียนให้เนี้ยบหรือปล่อยก็ได้ แล้วแต่สไตล์คนวาด แต่ส่วนใหญ่นิยมเขียนแบบปล่อย โชว์การแสดงอารมณ์ของทีแปรง และมักจะใช้การเขียน Impasto (สีหนา) ร่วมด้วย ศิลปินดังที่เพ้นท์สไตล์นี้ ได้แก่ John Singer Sargent, Andres Zorn, Joaquin Sorolla เป็นต้น
Direct painting ดูเหมือนง่ายและไม่ซับซ้อน จบงานได้ไว แต่จริงๆ ยากตรงที่ต้องแม่นยำเรื่องดรออิ้ง น้ำหนัก การผสมสี และต้องวางแผนการวาดให้ดี ถึงจะได้ผลงานที่ลงตัวค่ะ ถ้าพื้นฐานคนวาดยังไม่แข็งแรงพอ งานอาจออกมาไม่ดีได้
แม้ว่าการเพ้นท์ตอนสีเปียกจะช่วยให้เกลี่ยสีง่าย ทำให้ได้ขอบที่นุ่มละมุน แต่สำหรับเทคนิค Alla prima เราไม่ควรเกลี่ยสีมากเกินไป เพราะจะทำให้สีสกปรกหรือ Muddy ได้ง่าย ควรเริ่มระบายสีเข้มก่อน แล้วค่อยลงสีอ่อนทีหลัง ส่วนที่เป็นเงาควรลงให้บาง ส่วนที่เป็นแสงควรลงให้หนากว่า เป็นการลวงตาให้ภาพดูเป็นสามมิติ
การขึ้นงาน Direct painting มีได้หลายแบบ จะลงสีภาพรวมทั้งหมดก่อนแล้วค่อยเก็บรายละเอียด หรือจะค่อยๆ วาดให้เสร็จเป็นส่วนๆ ก็ได้เช่นกัน (เทคนิคการเขียนให้เสร็จเป็นส่วนๆ ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบทั้งภาพนั้น ฝรั่งเรียกว่า Window Shading)
เวลาเขียนแบบ Direct ถ้าพลาดไปแล้วจะแก้ไขอย่างไร? ก็ใช้เกรียงปาดสีส่วนที่พลาดออก หรือเช็ดสีออกด้วย OMS แล้วค่อยระบายทับใหม่ สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ ควรเลือกพื้นผิวที่ไม่ดูดสีมากเกินไป เพราะเขียนแค่เลเยอร์เดียว ส่วนสื่อผสมจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แล้วแต่ความถนัดของคนวาดค่ะ ---
(( ขั้นตอนการเขียน Direct Painting ))
1. ร่างภาพคร่าวๆ ด้วย Vine Charcoal ตอนร่างจะเน้นที่การลงสัดส่วนให้ถูก แต่จะไม่ลงรายละเอียด เพราะเวลาเพ้นท์ สีจะทับเส้นร่างหมดอยู่แล้ว และเป็นกุศโลบายอย่างนึงด้วย คือ ถ้าร่างภาพละเอียดเกินหรือสวยเกินไป จะทำให้ตัวเองไม่กล้าลงสี เพราะกลัวจะออกนอกเส้น อารมณ์ความสดของทีแปรงจะไม่ออกมาค่ะ เพราะเกร็ง
2. ใช้พู่กันเบอร์ใหญ่ลงภาพรวมให้หมดทั้งภาพ โดยที่ไม่ต้องสนใจดีเทล สิ่งสำคัญคือ เน้นเก็บ Impression รวมๆ ให้เร็วที่สุดไว้ก่อน สื่อผสมแอดใช้แค่ OMS เล็กน้อยพอให้สีไม่ฝืด ส่วนน้ำมันลินสีดไม่ได้ใช้ค่ะ
3. เก็บรายละเอียดใบหน้าและอื่นๆ ตรงนี้จะเป็นการเก็บ drawing ค่ะ โดยแอดจะไม่เก็บงานเยอะเกินไป ให้เหลือร่องรอยทีแปรงในข้อสองไว้ดูบ้าง สำหรับแอดชอบแบบนี้ ได้อารมณ์ดิบๆ ของทีแปรงดีค่ะ ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่จะใช้สีน้ำมันจากหลอดอย่างเดียวโดยไม่ผสมอะไร
สังเกตว่าการเขียนสไตล์ painterly ของแอดมิน จะไม่ลงรายละเอียดเท่ากันหมดทั้งภาพ ลงแค่ตรงที่เป็นจุดเด่น Focal point เท่านั้น และก็ไม่ลงดีเทลมากเกินไป แต่จะให้ความสำคัญที่ impression โดยรวมของภาพ ให้มีความสมดุลกัน
Comments