เกรียงเป็นอุปกรณ์ในการวาดภาพสีน้ำมันที่สารพัดประโยชน์มากตัวนึง เรา
มาดูกันเลยค่ะว่าเกรียงหรือ Palette knife ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
1. ใช้ในการผสมสี
สีที่ผสมด้วยเกรียงจะสะอาดกว่าผสมด้วยพู่กัน ศิลปินหลายท่านจะผสมสีบนจานสีไว้ทีเดียวก่อนจะลงมือวาด เหมาะกับศิลปินที่ต้องการสีสะอาด เปรียบเทียบน้ำหนักได้ชัดเจน โดยเฉพาะศิลปินสาย academic ส่วนศิลปินที่เป็นสายทีแปรงแบบฉับพลัน นิยมผสมสีบนผ้าใบโดยตรง จะไม่ใช้เกรียงเวลาผสมสีเท่าไหร่
2. ใช้ทำความสะอาดจานสี
หลังวาดภาพเสร็จให้ใช้เกรียงขูดสีที่เหลืออยู่บนจานสีออก แล้วค่อยใช้ผ้าเช็ดจานสีอีกที
3. ใช้ขูดสีบริเวณที่ไม่ต้องการออก
สำหรับศิลปินที่เขียนภาพสไตล์ alla prima หรือการเขียนแบบเปียกบนเปียก ตรงไหนที่วาดแล้วไม่ถูกใจอยากลบทิ้ง ให้ใช้เกรียงปาดสีบริเวณที่ไม่ต้องการออก และเช็ดสีที่เหลือออกด้วยน้ำมันสน จากนั้นค่อยลงสีทับอีกที วิธีนี้จะทำให้เราแก้งานได้โดยที่สียังสะอาดและทีแปรงยังสดอยู่ ถ้าแก้งานโดยการลงสีทับไปเรื่อยๆ สีใหม่จะไปผสมกับสีด้านล่างที่เปียก ทำให้สีไม่สะอาด
สำหรับภาพที่แห้งแล้ว ก็สามารถใช้เกรียงช่วยขูดสีที่แห้งแล้วออกได้เช่นกัน
4. ใช้สร้าง Texture ในการวาดภาพ
ข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่คนนึงถึงเวลาใช้เกรียง เกรียงใช้สร้างพื้นผิวได้หลากหลาย ทั้งหนาและบาง หยาบและนุ่ม สร้างได้ทั้งเส้นคม เส้นแตก เส้นเบลอ ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการลงเกรียง และรูปทรงของเกรียง
5. ใช้ในการเกลี่ยสีให้เรียบเนียน (Blending)
เกรียงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เกลี่ยสีได้เรียบเนียนกว่าการใช้พู่กัน เวลาเกลี่ยสีให้ใช้หลังเกรียงในการเกลี่ย โดยเกลี่ยเป็นวงกลม คล้ายๆกับการฉาบผนังปูน
เกรียงเป็นอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดง่าย ไม่ยุ่งยาก แค่ใช้ผ้าเช็ดสีออกเท่านั้นก็จบ (อย่าทิ้งสีแห้งติดคาเกรียงก็พอ) เกรียงยังมีหลายรูปทรง หลายขนาด แต่ละรูปทรงจะให้ร่องรอยที่แตกต่างกันไป
ยังไงก็ตามสำหรับภาพคน ศิลปินส่วนใหญ่จะใช้เกรียงร่วมกับพู่กันเพื่อเพิ่มความหลากหลาย มากกว่าใช้แค่เกรียงอย่างเดียว เพราะเกรียงมีขนาดใหญ่ ควบคุมลำบาก จึงยากในการนำมาวาด Subject ที่ต้องใช้ความแม่นยำอย่างการวาดคน (แต่สำหรับภาพหุ่นนิ่งและ Landscape การใช้เกรียงวาดอย่างเดียวพบเห็นได้บ่อย)
เทคนิคการใช้เกรียงวาดภาพเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาฝึกฝน เช่นเดียวกับการใช้พู่กัน โดยแต่ละคนจะมีวิธีการลงเกรียงที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้าจะให้บอกเคล็ดลับก็มีอยู่คำเดียว คือ “กล้า” เข้าไว้ค่ะ กล้าที่จะลง, กล้าที่ลอง, กล้าที่ใช้สีเยอะๆ ไม่กลัวเปลือง, กล้าที่จะลงสีออกจากเส้นกรอบ, กล้าที่จะผิดพลาด, กล้าที่จะเริ่มต้นใหม่ --- ในชีวิตของผู้เขียน เจอศิลปินมาหลายคนทั้งไทยและต่างชาติ พบว่าศิลปินแต่ละคนมีบุคลิกนิสัยที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งเดียวที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด คือ ทุกคนเป็นคนกล้าค่ะ นี่คือคุณสมบัติที่ผู้เขียนว่าสำคัญที่สุดในการเป็นศิลปิน และสำคัญกว่าพรสวรรค์ด้วยค่ะ
ศิลปิน : David Stern
เขาใช้เทคนิค Impasto (การโปะสีหนาๆ) ด้วยเกรียง โดยป้ายสีทับกันจนเกิดปริมาตรและความนูนต่ำแบบ 3 มิติ ข้อดีของเกรียงคือสามารถลงสีหนาๆ ซ้อนทับกันได้ โดยที่ไม่ไปผสมกับสีด้านล่างที่เปียกอยู่เหมือนการใช้พู่กัน
ศิลปิน : Nicolai Fechin
จะเห็น Texture การใช้เกรียงปาดสีอย่างชัดเจนที่ฉากหลัง เสื้อผ้า และดอกไม้ โดยศิลปินจงใจปาดเกรียงแบบหยาบๆ ให้ตัดกับผิวคนที่ดูเรียบเนียนเพื่อสร้าง contrast --- สังเกตว่าศิลปินมีการสร้างสมดุลในภาพได้ดีมาก มีทั้งจุดที่หยาบและละเอียด ชัดเจนและจางหาย เรียลลิสติกและแอบแสตรก
ปัญหาที่มักพบในการใช้เกรียงเขียนภาพ คือ ขาดสมดุล และมักลืมตัวใส่ไม่ยั้ง จริงอยู่ที่ Texture ในงานสีน้ำมันเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ถ้าใส่มากไป ก็เหมือนเพลงที่ดังโวยวายเท่ากันทั้งเพลง เหมือนมีอะไรกระแทกตาตลอดเวลา เวลาใช้เกรียง อย่าลืมว่าในภาพต้องมีจุดที่เบาเพื่อเป็นการพักสายตาด้วย
ศิลปิน : Nicolai Fechin
เค้าใช้เกรียงเกลี่ยผิวเด็กให้ดูเรียบเนียน ตัดกับบรรยากาศรอบนอกที่ดูหยาบด้วยการใช้เกรียงปาดร่วมกับเทคนิค Dry brush (Dry brush = การใช้พู่กันแห้ง แตะสีแล้วลากไปบนผ้าใบ จะเกิด Texture บางๆ ที่เป็นเส้นแตกๆ)
การสร้าง contrast ลักษณะนี้ (ผิวคนเขียนเรียบ ด้านนอกเขียนหยาบ) เป็น signature style ของเฟียชิน ที่ต้องมีฝีมือชำนาญมากถึงเขียนได้ลงตัว ศิลปินท่านนี้จัดอยู่ในระดับ Artist's artist คือเป็นไอดอลของเหล่าศิลปินด้วยกันอีกที ติ่งของเฟียชินนั้นมีอยู่ทั่วโลก รวมถึงคนเขียนด้วยค่ะ 555
ศิลปิน : Aaron Coberly
ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน เค้าใช้เกรียงวาดแทบทั้งภาพ มีแค่จุดที่เป็นดีเทลเล็กน้อยที่เป็นงานพู่กัน
ศิลปิน : Aaron Coberly
ภาพนี้เป็นการวาดสดแบบ Alla prima ด้วยการใช้เกรียงเพียงอย่างเดียว สังเกตุว่าเกรียงสามารถสร้างพื้นผิวได้ทั้งหยาบและเรียบ คมและเบลอ อยู่ที่เทคนิคการปาดของผู้ใช้ เพิ่มเติมคือพื้นฐานการ drawing ต้องระดับขั้นเทพด้วย ถึงวาดออกมาได้อย่างในภาพ
ศิลปิน : Robin Smith
สังเกตการใช้เกรียงโปะสี สร้าง Texture ในส่วนที่เป็นแสงบริเวณหน้าผาก ขนคิ้ว หนวด ผม ส่วนที่เป็นแสงเค้าจะเขียนให้หนาด้วยเกรียง ส่วนที่เป็นเงาจะเขียนให้บาง เพื่อเป็นการลวงตาให้เกิดความรู้สึกว่าภาพมีความลึกแบบ 3 มิติ
ศิลปิน : Robin Smith
มีการใช้เกรียงปาดและเกลี่ยสีในส่วนที่เป็นแสง ทั้งผิวคนและเสื้อ ภาพนี้อาจจะดูยากนิดนึง แต่ถ้าสังเกตุดีๆ จะเห็น Texture ที่เป็นรอยเกลี่ยสีด้วยเกรียง อยากให้เห็นว่าเกรียงก็เขียนเรียบๆได้ ส่งเสริมให้ภาพสวยได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเขียนโปะสีหนาๆ ดุๆ แรงๆ เสมอไป
ศิลปิน : Richard schmid
เค้าใช้เกรียงค่อยๆ ปาดอย่างบรรจงในส่วนที่เป็นกลีบดอกคมๆ ของดอกไม้ ภาพนี้ใช้เกรียงไม่เยอะ ใช้แค่ส่วนที่เป็นกลีบดอกและใบไม้บางจุดเท่านั้น เป็นความชาญฉลาดของศิลปินที่จงใจเขียนฉากหลังให้บาง จะได้ตัดกับกลีบดอกที่มีสีหนาแน่นจากการปาดเกรียง
ภาพนี้เป็นการเขียนแบบ Alla prima เปียกบนเปียก ด้วยศิลปินฝีมือระดับปรมาจารย์ มีการวางแผนการวาดมาเป็นอย่างดี ให้สังเกตส่วนที่คมของกลีบดอกไม้ ในการเขียน alla prima ความคมแบบนี้พู่กันทำไม่ได้ ต้องใช้เกรียงเท่านั้น เรียกว่าเค้าปาดเกรียงได้ถูกที่ ถูกจังหวะ ของจริงไม่ต้องปาดเยอะ
ศิลปินท่านนี้นอกจากเก่งระดับมาสเตอร์แล้ว เค้ายังได้เขียนหนังสือที่น่าอ่านมากเล่มนึง ชื่อ "Alla prima : Everthing I know about painting" ซึ่งถือว่าเป็นไบเบิ้ลของเหล่าจิตรกรสาย painterly กันเลยทีเดียว ถ้าใครสนใจและสะดวกสั่งจากเวปนอก ลองหาซื้อได้นะคะที่
ศิลปิน : Nicolas Uribe
เค้าใช้เกรียงในการขูดสีให้บางจนเห็นเนื้อผ้าใบ โดยเลือกขูดในบริเวณที่เป็นแสงหรือ Hilight (ใช้ความขาวของผ้าใบที่โผล่ให้เห็นจางๆ แทนน้ำหนักอ่อนสุดในภาพ) อยากให้เห็นว่าเกรียงไม่จำเป็นต้องใช้โป๊ะสีหนาเสมอไป แต่ใช้ขูดเพื่อให้สีบางลงได้เช่นเดียวกัน
#paletteknife #paletteknifepainting #texture #painterly #oilpainting #oilpainting #portraitpainting #oilpaintingforbeginner #oilpaintingforbeginner #customportraitpainting #customportraitpainting #oilpaintingcommission #oilpaintingcommission #paintyoustudio
コメント