top of page
Search
Writer's picturePaint You Studio

Brush cleaning : การล้างพู่กันสีน้ำมัน

Updated: Oct 3, 2022



สีน้ำมันเป็นสีที่มีความทนทานสูง น้ำเปล่าธรรมดาจึงไม่สามารถล้างสีออกจากพู่กันได้ การล้างพู่กันสีน้ำมันจึงต้องมีตัวล้างเฉพาะ ซึ่งที่นิยมใช้กันมี 3 แบบ คือ 1.น้ำมันสน (Turpentine) 2.น้ำยาล้างพู่กันชนิดไร้กลิ่น หรือ OMS (Odorless Mineral Spirit) 3.น้ำมันประเภท Drying oil โดยศิลปินจะเลือกตัวใดตัวหนึ่งในการใช้งาน เมื่อล้างพู่กันด้วยตัวล้างด้านบนแล้ว จะต้องล้างต่ออีกทีด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน เพื่อเอาคราบสีและตัวล้างที่เหลือติดพู่กันออกให้หมด เพราะถ้าล้างไม่หมด จะทำให้ขนพู่กันแข็งกระด้าง เสื่อมสภาพเร็ว โดยข้อดีข้อเสียของตัวล้างแต่ละแบบ มีดังนี้ค่ะ --- 1. น้ำมันสน (Turpentine) ข้อดี : - ราคาไม่แพง - ล้างสีน้ำมันออกได้เร็วที่สุด - ล้างวานิชทุกประเภทออกได้ - เมื่อผสมกับสีน้ำมัน จะเกิดลักษณะที่เรียกว่า “Lean” คือสีจะบางลง ทำให้ใช้เทคนิคระบายแบบสีน้ำได้ สีที่ผสมกับ Turpentine จะมีผิวด้าน จึงนิยมใช้วาดในชั้นล่างสุดหรือ underpainting ข้อเสีย - พู่กันพังเร็ว - มีกลิ่นแรงเวียนหัวมาก - มีพิษต่อสุขภาพมาก มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ คนเป็นหอบหืดไม่ควรใช้ มีผลต่อเยื่อบุตา ในระยะยาวมีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง ดังนั้นควรใช้ในห้องที่อากาศถ่ายเท หรือใช้นอกอาคาร ห้ามใช้ในห้องแอร์

 

2. น้ำยาล้างพู่กันชนิดไร้กลิ่น (OMS) ข้อดี : - คุณสมบัติเหมือนน้ำมันสน แต่ไม่มีกลิ่นหรือมีกลิ่นน้อย - ล้างสีน้ำมันออกได้ดี แต่ไม่เท่าน้ำมันสน - ล้างวานิชทุกประเภทออกได้ ยกเว้น Damar Varnish - เมื่อผสมกับสีน้ำมัน จะเกิดลักษณะที่เรียกว่า “Lean” คือสีจะบางลง ทำให้ใช้เทคนิคระบายแบบสีน้ำได้ สีที่ผสมกับ OMS จะมีผิวด้าน จึงนิยมใช้วาดในชั้นล่างสุดหรือ underpainting ข้อเสีย - ราคาแพง - พู่กันพังเร็ว - มีพิษต่อสุขภาพเช่นกัน แต่น้อยกว่าน้ำมันสนมาก มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ มีผลต่อเยื่อบุตา ในระยะยาวมีผลต่อระบบสมองส่วนกลาง ดังนั้นควรใช้ในห้องที่อากาศถ่ายเท หรือใช้นอกอาคาร ห้ามใช้ในห้องแอร์ และด้วยความที่ไม่มีกลิ่นทำให้คนวาดไม่รู้ตัวว่าสูดไอระเหยเข้าไปเยอะหรือน้อย


 

3. น้ำมันประเภท Drying oil เช่น น้ำมันลินสีด Linseed oil , น้ำมันวอลนัท Walnut oil, น้ำมันดอกคำฝอย Safflower oil

โดยใช้หลักการว่า สีน้ำมันย่อมละลายในน้ำมัน ดังนั้นน้ำมันจึงล้างสีน้ำมันออกได้ วิธีล้าง - เช็ดสีที่ติดพู่กันออกให้มากที่สุดก่อน ด้วยกระดาษหรือผ้า - จุ่มพู่กันในน้ำมัน แล้วเช็ดสีออกด้วยผ้าอีกที ถ้ายังไม่สะอาดให้ทำซ้ำจนกว่าพู่กันจะสะอาด - น้ำมันที่ใช้ล้าง ต้องอยู่คนละถ้วยกับน้ำมันที่ใช้วาด - เมื่อจบการวาดในแต่ละวันแล้ว ให้ล้างพู่กันอีกทีด้วยน้ำสบู่ ข้อดีของการใช้น้ำมันล้าง : - ไม่เป็นพิษต่อสุขภาพ ข้อเสีย : - ล้างวานิชไม่ได้ - ใช้เทคนิคระบายสีแบบบางเหมือนสองตัวด้านบนไม่ได้ --- สำหรับผู้เขียน เลือกใช้ตัวล้างข้อ 2 น้ำยาล้างพู่กันชนิดไร้กลิ่น (OMS) ค่ะ

7,629 views0 comments

Comments


bottom of page